วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เคล็ดลับวิชา

ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบดูหนังจีนและอ่านนิยายกำลังภายในมาตั้งแต่เด็ก สิ่งหนึ่งที่หนังจีนมักจะกล่าวถึงคือเคล็ดลับวิชา ที่ตัวเอกของเรื่องมักจะได้รับการถ่ายทอดมาแบบไม่คาดคิดในบางสถานการณ์ เช่นไปพบจอมยุทธที่เร้นตัวอยู่ในถ้ำ หรืออาจจะได้มาตอนที่อาจารย์ถูกทำร้ายบาดเจ็บอาการหนักสาหัสปางตาย ซึ่งเจ้าเคล็ดลับวิชานี่ก็มักจะเป็นประโยคแค่ไม่กี่ประโยค หรือเป็นเพียงบทกลอนสั้นๆ ซึ่งผมก็สงสัยอยู่ในใจมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่าเพียงแค่คำไม่กี่คำนี่มันจะทำให้คนเก่งขึ้นแบบข้ามขั้นได้อย่างไร

ความสงสัยนี้ก็ยังคงซ่อนเร้นอยู่ในส่วนลึกมาจนถึงทุกวันนี้ และก็ให้รู้สึกประหลาดใจทุกครั้งที่กลับมานึกย้อนถึงความคิดสมัยอดีตอีกครั้ง เมื่อพบว่าตัวเองเริ่มเข้าใจความหมายและความสำคัญของเคล็ดลับวิชามากขึ้น หลังจากที่ได้ร่ำเรียนวิชาความรู้ต่างๆ และผ่านประสบการณ์มาจนถึงตอนนี้

แท้จริงแล้ว ทุกวิชาที่เราเรียนกันอยู่นั้น ต่างก็มีเคล็ดวิชา แก่นของวิชา หรือหัวใจของวิชานั้นๆ อยู่ทั้งสิ้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นวิชากำลังภายในเพียงอย่างเดียว อยู่ที่ว่าเราจะจับมันกันได้รึเปล่า เพราะส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่ครูอาจารย์มักจะสอนคือ "เนื้อหาวิชา" ซึ่งก็ได้แต่ท่องจำและเข้าใจเนื้อความกันไปตามเรื่อง เมื่อไม่ได้นำมาใช้ก็จะค่อยๆหายไป จนลืมไปในที่สุด

แต่เคล็ดวิชาจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเชื่อมโยง "เนื้อหาวิชา" ที่เรียนไปเข้าด้วยกัน และจับประเด็น หลักการหรือ concept ของมันไว้ หรือจะเรียกว่าเป็นความคิดรวบยอดก็ได้ ซึ่งอย่างที่บอกไปว่ามันไม่ใช่แค่ความเข้าใจ แต่มันคือการเข้าถึงหัวใจของวิชานั้นๆ รวมทั้งเข้าใจจุดมุ่งหมายของวิชาด้วย และเคล็ดวิชาก็อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริงๆ ให้วิชาที่ได้เรียนไปนั้นค่อยๆซึมซับเข้าสมองและจิตใจ (รวมทั้งไขสันหลัง จนกลายเป็นรีเฟล็ก ตอบสนองได้อัตโนมัติเลย) ในระหว่างลงมือปฏิบัติ ก็จะต้องมีการทบทวนความรู้ที่มีอยู่เดิม ขวนขวายหาสิ่งที่ขาดหายไป ค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหา และนำความรู้ทั้งหมดที่มีมาประมวลเข้าด้วยกัน จนวันหนึ่งมันจะตกผลึกออกมาเป็นเคล็ดวิชาของคนๆนั้น

ซึ่งนี่ก็เป็นเพียงความเข้าใจของผมเกี่ยวกับเคล็ดวิชาที่ว่าอ่ะนะ

แต่อย่าเพิ่งดีใจไปว่าแค่รู้เคล็ดวิชาแล้วจะเก่งขึ้นทันตาเห็น เพราะเคล็ดวิชาจะทำงานได้ต้องอาศัยความรู้หรือเนื้อหาวิชาที่อาจารย์พร่ำสอนให้จำและเข้าใจด้วย เหมือนกับการทำอาหารที่บังเอิญไปได้ยินเทคนิคพิเศษมา แต่ไม่รู้วิธีการทำอาหารชนิดนั้น มันก็ไร้ค่า เคล็ดวิชาถ้าขาดความรู้พื้นฐาน มันก็มีค่าเป็นแค่วลีธรรมดาๆ ซึ่งนี่ก็ช่วยตอบคำถามที่ว่าทำไมพระเอกในหนังถึงเก่งขึ้นได้ ก็เพราะเขามีวิชาที่ได้ร่ำเรียนมาเป็นพื้นฐานเดิมอยู่ก่อนแล้ว เมื่อรู้เคล็ดลับวิชาเข้าไปอีก ก็จะช่วยให้พระเอกนำวิชาฝีมือที่มีอยู่มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีเยี่ยม

และถึงแม้เมื่อสูงอายุขึ้นหรือห่างเหินจากวิชานั้นนานเกินไป จนจำตัวความรู้หรือเนื้อหาวิชาไม่ได้
แต่ถ้าหากยังมีเคล็ดวิชาอยู่และยังมีความเข้าใจหลงเหลืออยู่บ้าง ก็น่าจะช่วยให้ฟื้นฟูความรู้ได้รวดเร็วขึ้น เมื่อไปค้นหามันอีกครั้ง เพราะอย่างน้อยก็เคยเรียนมารอบหนึ่งแล้ว ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ

เคล็ดวิชาไม่จำเป็นจะต้องมาจากการเรียนวิชาทั่วไปเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดขึ้นมาได้จากประสบการณ์การใช้ชีวิตด้วย

และเคล็ดวิชาจะทำงานได้ดีที่สุดถ้าหากมันมาจากการตกผลึกด้วยตนเอง

ดังนั้นทั้งตัวความรู้และเคล็ดวิชา จึงมีความสำคัญทั้งคู่ ขาดจากกันไม่ได้

จากประสบการณ์ที่ผ่านๆมา เคล็ดวิชาอย่างหนึ่งที่ผมพบ คือการรักษาสมดุล

ซึ่งดูธรรมดามาก จริงมั้ยครับ ใครๆเค้าก็รู้กัน แต่ผมเชื่อว่าเคล็ดวิชานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลายๆศาสตร์ หลายๆสาขาอาชีพ ไม่เชื่อลองเอาไปคิดประกอบกับบทเรียนที่ท่านกำลังเรียนอยู่ก็ได้ ทั้งบทเรียนในห้องเรียนและบทเรียนในชีวิตประจำวัน

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบทางสายกลาง พิณที่สายตึงไป ดีดไปสายก็ขาด พิณที่สายหย่อน เมื่อดีดเสียงก็ไม่ไพเราะ ดังนั้นการปฏิบัติธรรมถ้าไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ก็จะสามารถบรรลุธรรมได้ในที่สุด

ที่บ้านเมืองเราวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ เพราะขาดความสมดุลระหว่างอำนาจทั้งสาม คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมทั้งสมดุลระหว่างรัฐบาล ประชาชน องค์กรเอกชนและองค์กรอิสระ


ที่สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอยู่ทุกวันนี้ เพราะเรามัวแต่พัฒนาสร้างโรงงาน สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ตัดต้นไม้ทิ้ง คิดว่านั่นเป็นความเจริญรุ่งเรือง มุ่งแต่จะให้ตัวเองสบาย มั่งคั่งร่ำรวย โดยไม่ได้คำนึงถึงสมดุลของธรรมชาติและระบบนิเวศ

ร่างกายคนเราก็ต้องมีสมดุลของมัน ถ้าหากเสียสมดุลไปจากเดิม ก็เกิดความเจ็บป่วยขึ้น การใช้ยาก็เพื่อไปปรับสมดุลให้เข้าสู่ระดับปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่ายาจะดีเสมอไป เพราะถ้าใช้ยามากเกินความจำเป็น มันก็เสียสมดุลไปอีก ดังนั้นการใช้ยาจึงต้องสมเหตุสมผล ไม่ใช้พร่ำเพรื่อ

ในระบบเศรษฐกิจ เงินเฟ้อหรือเงินฝืดเกินมันก็ไม่ดี เศรษฐกิจฝืดเคืองก็ไม่ดี เศรษฐกิจขยายตัวมากเกินไปก็ไม่ดีอีกเช่นกัน ค่าเงินบาทอ่อนไปหรือแข็งไปก็ไม่ดี แล้วจะทำยังไงให้ระบบเศรษฐกิจมีสมดุล ไม่แปรปรวนมากเกินไป พยายามรักษาสมดุลเอาไว้ จัดสรรทรัพยากรได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ไม่ใช่ให้ทรัพยากรไปตกอยู่ในมือของคนร่ำรวยไม่กี่คนไม่กี่กลุ่ม จะทำยังไงให้ประชาชนทุกคนมีกินมีใช้มีความสุข และให้เศรษฐกิจมันเติบโตไปเหมาะสมกับสภาพสังคม พ่อค้าประชาชนพอใจกันทุกๆฝ่าย ?


ลองค้นหาเคล็ดวิชากันดูนะครับ ดีกว่าเรียนสรรพวิชากันไปแบบตะพืดตะพือ ไม่มีการจับประเด็นสำคัญ อย่างน้อยก็น่าจะได้รู้ว่าจุดมุ่งหมายของมันคืออะไร และจะไปค้นคว้าศึกษาต่อได้ยังไง

ไม่มีความคิดเห็น: