วันพุธที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2551

กับดักการปราศรัยพันธมิตร

เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมฟังวิทยุคลื่น 97.75 ซึ่งถ่ายทอดเสียงการชุมนุมพันธมิตร ก็มีแกนนำคนหนึ่งขึ้นมาพูดปราศรัยโจมตีนักวิชาการท่านหนึ่งนั่นคือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ สืบเนื่องจากการที่อ.นิธิ เขียนบทความลงไว้ในหนังสือพิมพ์มติชนเรื่อง "ปฏิรูปสังคม" แล้วเกิดทำให้แกนนำท่านนั้นไม่พอใจหลายๆประการ เท่าที่จับใจความได้ ได้แก่
1.กล่าวหาว่าการชุมนุมของพันธมิตรไร้เดียงสา
2.หาว่าพันธมิตรมา hijack ทำเนียบรัฐบาล
3.อ.นิธิ บอกว่าการนำคนดีมาปกครองบ้านเมือง ไม่มีประโยชน์


แล้วแกนนำท่านนั้นก็โจมตีอ.นิธิ อย่างรุนแรงทั้งเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของตัวอาจารย์เอง ที่มีข่าวในทางเสียหายกับภรรยาผู้อื่น และสรุปสุดท้ายว่าเป็นพวกเดียวกับรัฐบาลขายชาติ เชื่อว่าใครที่ฟังอยู่ในที่ชุมนุมก็คงจะรู้สึกคล้อยตามไปกับแกนนำท่านนี้

เอารายละเอียดการปราศรัยของแกนนำท่านนี้มาจากบล็อกของกลุ่มคนจุดตะเกียง ลองอ่านดูนะhttp://onknow.blogspot.com/2008/09/blog-post_2750.html

“สมศักดิ์”สวน “ดร.นิธิ”กล่าวหาพันธมิตรฯ ไฮแจ๊กทำเนียบ จวกไม่เข้าใจสิทธิเสรีภาพการชุมนุม ระบุยึดทำเนียบป้องกันนักการเมืองชั่วโกงกินประเทศ ย้อนกลับนักวิชาการ ม.เที่ยงคืน พฤติกรรมเฒ่าหัวงู ไร้ศีลธรรมไฮแจ๊กเมียเพื่อน ซ้ำพูดเหมือนคนบ้า อ้างเอาคนดีมาปกครองบ้านเมืองไร้ประโยชน์

เมื่อเวลา 22.40 น. วันที่ 22 ก.ย. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขึ้นเวทีปราศรัยที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า เรามาต่อสู้เพื่อให้ความดีงาม แต่มีบางคนไปพูดให้คนเข้าใจผิด โดยเฉพาะนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่กล่าวหาว่าพันธมิตรฯ ไร้เดียงสา และทำให้ “3 เกลอ”ที่จัดรายการ “ความจริงวันนี้”เอาไปอ้างต่อ จึงน่าจะพูดได้ว่านายนิธิ เป็นนักวิชาการสาย นปก.โดยแท้ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า คำพูดของนายจักรภพ เพ็ญแข ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ไม่น่าจะเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 113 แต่ตำรวจมีความเห็นสั่งฟ้องตามมาตรา 112 ไปแล้ว นอกจากนั้นยังเคยบอกว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณให้เงินมาใช้เคลื่อนไหวโดยไม่มีเงื่อนไขก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องเสียหาย ทั้งที่เป็นเงินที่โกงบ้านโกงเมืองมา

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นายนิธิได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนว่า พันธมิตรฯ ไร้เดียงสา และอ้างว่าไม่ควรมีคนกลุ่มใดไปไฮแจ๊กทำเนียบรัฐบาล (จับทำเนียบฯเป็นตัวประกัน) เพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ซึ่งเท่ากับว่านายนิธิไม่รู้เรื่องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม สมัยที่สมัชชาคนจนมาชุมนุมหน้าทำเนียบนายนิธิก็ทำเป็นเมตตาคนจน แต่ตอนนี้กลับไปอยู่กับระบอบทักษิณ

“นักวิชาการคนนี้เปิดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อ้างว่าเป็นมหาวิทยาลัยทางเลือก แล้วตอนนี้ก็ไฮแจ๊กเมียเพื่อนมาเป็นเมียตัวเอง หลังจากวิจัยกันไปวิจัยกันมา จนหนังสือพิมพ์ลงข่าวว่านิธิเตียงหัก เราไฮแจ๊กทำเนียบเพื่อไม่ให้คนชั่วมาโกงกินประเทศชาติ เราทำเพื่อความดี แต่นักวิชาการที่ไฮแจ๊กเมียเพื่อนนั้นชั่วช้าสิ้นดี ไม่รู้ว่าไร้เดียงสา หรือไม่ประสีประสากันแน่

“เราเป็นพลเมืองดีที่กล้ามาเปิดโปงนักการเมืองชั่วขายชาติ จนมีคำพิพากษาตัดสินออกแล้ว คตส.ก็ตรวจสอบแล้วผลปรากฏออกมาโกงไป 2 แสนกว่าล้าน โกงเลือกตั้งก็ผิดชัดแจ้ง แล้วนักวิชาการขี้หมูไหลพวกนี้ไม่ว่าสักคำ แต่มันมาตำหนิคนดี ใครที่ตำหนิคนดี เขาเรียกว่าอะไรครับพี่น้อง”

นายสมศักดิ์ ย้ำว่า ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนทำดีละเว้นจากความชั่ว ให้คนกตัญญูกตเวทีต่อแผ่นดินเกิด ต้องรักษาแผ่นดินไว้ให้ลูกหลาน ใครมาทำลายเราต้องลุกขึ้นสู้ เป็นการทำหน้าที่พลเมืองดี แล้วมันไร้เดียงสาตรงไหน นักวิชาการที่พูดแบบนี้ควรปลดตัวเองไปเลี้ยงหมูเลี้ยงแมวดีกว่า คุณอาจคิดว่าคุณมีความรู้ดี แต่ความประพฤติไม่ดีเลยเพราะฉะนั้นถ้าเจอที่ไหนจะฉะที่นั่น จะตำหนิ เพราะหลักพุทธศาสนาบอกว่า ยกย่องคนที่ควรยกย่อง ตำหนิคนที่ควรตำหนิ

“เขาว่ามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นมหาวิทยาลัยเลือก ตกลงก็เลือกเอาเมียเพื่อนมาทำเมียตัวเอง แค่นี้ก็ผิดศีลธรรม ร้ายแรงแล้ว ถ้าเป็นข้าราชการประพฤติชั่วอย่างนี้โทษต้องไล่ออกจากราชการ คุณไม่ซื่อสัตย์ต่อครอบครัวลูกเมียแล้วคุณจะซื่อสัตย์กับใคร”

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้นายนิธิยังให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง แม้ว่าจะมีพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง ไม่ให้คนไม่ดีเข้าไปมีอำนาจก่อความวุ่นวายได้ แต่นักวิชาการบ้าคนนี้บอกว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะส่งเสริมคนดีปกครองบ้านเมือง มันเลยส่งเสริมคนชั่วให้ปกครอง

นอกจากนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ก็พูดอยู่เสมอว่า อย่ายกย่องคนมีเงินที่ฉ้อฉล ขอให้ยกย่องคนดีมีศีลธรรมให้มาปกครองบ้านเมือง ซึ่งนี่คือสิ่งที่พันธมิตรฯ ทำ แต่นักวิชาการพวกนี้มันบ้าสนิทแล้ว ที่บอกว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะให้คนดีมาปกครอง ทั้งที่ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีทั้งนั้น เหมือนคำพูดของท่านพุทธทาสที่ว่า ปวงมนุษย์ทั้งหลายนั้นดีกว่าสัตว์ตรงที่มีศีลธรรมคุณธรรม ถ้าไม่มีศีลธรรมคุณธรรมก็เลวกว่าสัตว์เดรัจฉาน

“ผมพูดเสมอว่า คางคกตัวผู้เคยรุมข่มขืนคางคกตัวเมีย แล้วฆ่าทิ้งไหม ไม่มี มีแต่คนที่ข่มขืนผู้หญิงแล้วฆ่าทิ้ง จึงเรียกพวกนี้ว่าสัตว์นรก เพราะฉะนั้นบ้านเมืองต้องมีระบบคุณธรรมจริยธรรม โดยมีศาลเป็นคนตรวจสอบ ทุกสังคมต้องมีมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรม และต้องให้ผู้นำประเทศเป็นแบบอย่าง”

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นักวิชาการพวกนี้ชอบทำให้คนสับสน คนที่ไม่รู้ก็หลงเชื่อ พวกนักวิชาการกะเรี่ยกะราด มาหาว่าพันธมิตรเป็นเผด็จการ ทั้งที่ตัวเองเป็นอาจารย์ ยังไม่รู้อีกว่า ทักษิณเป็นเผด็จการทุนนิยมสามานย์ พอๆ กับฮิตเลอร์ ตนเคยไปศึกษาสถาบันฮิตเลอร์มาแล้ว เหมือนทักษิณทุกอย่าง เรื่องการฆ่าตัดตอน การอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีกรือเซะ-ตากใบ นอกจากนั้นระบอบทักษิณยังมีเรื่องการโกง ทุจริต ยกดินแดนพระวิหารให้เขมร ทำผิดกฎหมายอาญา ทำผิดไปผิดมาก็หนีศาล หนีหมายจับ แล้วรัฐบาลนอมินีก็ไม่เห็นรักษาผลประโยชน์ชาติ คนเป็นผู้ร้ายหนีคดีอาญา ถูกออกหมายจับ รู้ไปทั่วโลก แต่ก็ยังไม่กล้าถอนพาสปอร์ตสีแดงเลย

“มันหาว่าเราต่อรอง มันดูถูก คนทั่วโลกเขาก็ชุมนุมกันทั้งนั้น หาว่าเราไฮแจ๊กทำเนียบ ไม่รู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ รัฐบาลไหนไม่ดีประชาชนมีสิทธิยึดอำนาจคืน เขาไม่รู้จักประชาธิปไตย ไม่รู้เรื่องรัฐศาสตร์ หรือไม่ก็รับจ้างมาพูด นักวิชาการคนนี้ อดีตเคยเป็นคนน่าเชื่อถือ คนเคยทำดีผมก็ชื่นชม แต่ตอนที่ไม่ดี ก็ถือว่า เขาเป็นศัตรูกับประชาชน ไปรับใช้ทรราชระบอบทักษิณ

“แถมพฤติกรรมของตัวเองยังไม่น่าเชื่อถือเลย ถ้าเป็นกรรมกรก่อสร้าง ไปเอาเมียคนอื่นมาเป็นเมียตัวเอง คนเขาก็ต่อว่านิสัยไม่ดี แต่นี่เป็นนักวิชาการไปเอาเมียเพื่อนมาเป็นเมียตัวเอง ทั้งที่ตัวเองก็แก่แล้ว เป็นเฒ่าหัวงู อายุ 60 กว่าใกล้ 70 แล้ว ยังไปเอาเมียชาวบ้านมาเป็นเมียตัวเอง อย่างนี้เขาเรียกว่า แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะเกิดนาน”

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า คนจะเป็นผู้นำคนต้องมีคุณธรรมจริยธรรม มีมาตรฐานให้คนอื่นยอมรับได้ ไม่ใช่พูดได้ทุกเรื่อง แต่ทำไม่ได้แม้แต่เรื่องเดียว อย่างกรณีนายนิธิ ศีลข้อเดียวก็ยังถือไม่ได้ จะเป็นอาจารย์ทำผีอะไร คนเป็น ต้องมีศีลมีสัตย์ ถ้าไม่มีก็ไปเป็นโจรดีกว่า ไม่ต้องเหนื่อย แต่ถ้าจะเป็นครูบาอาจารย์ก็ต้องมีศีลธรรม เช่นเดียวกับจะเป็นนักการเมืองต้องเสียสละ มีคุณธรรมไม่ใช่มีอาชีพโกงกิน

“บ้านเมืองเราศีลธรรมกำลังเสื่อม เราต้องมากู้ศีลธรรม เอาผู้ปกครองที่ชั่วออกไป เพราะถ้าคนชั่วปกครอง ชีวิตเราก็เหมือนหมาเน่า เราต้องให้คนดีมาเป็นผู้นำประเทศ นี่คือเอกลักษณ์ จุดยืนของประเทศไทย อย่าประมีประนอมกับความชั่ว ผมไม่ยอม มาด่าพี่น้องเราไม่ได้ เรามาต่อสู้เพื่อคุณความดี ใครคนใดคนหนึ่งเจ็บเราเจ็บ ใครแพ้เราก็แพ้ด้วย เราเป็นพี่น้องกัน ยอมตายเพื่อชาติ พร้อมสู้ทุกมิติ เรื่องอะไรจะให้พวกเลวๆ มันมาว่าพี่น้อง โดยที่ตัวเองอยู่เฉยๆ เพราะฉะนั้นใครดีเลว ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ อย่าพูดอย่างเดียว”

นายสมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า เราอย่าไว้ใจ คนที่ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ หรือคนที่ดูสุภาพเรียบร้อยแต่ทำให้หน้าห้องต้องผูกคอตาย เราอย่าไว้ใจที่โหดเหี้ยมอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพวกเราอย่าประมาท ขอให้เราตรึงทำเนียบไว้ตลอด เพราะวัน 2 วันมานี้ มีตำรวจมาด้อมๆ มองๆ ถ้าเห็นพวกเราน้อย ก็อาจจะซุ่มเข้ามา ขณะที่อีกทางหนึ่งก็จ้างนักวิชาการไว้พูดทำลายพวกเรา เรายิ่งต้องระมัดระวัง แต่อย่าเครียด พี่น้องมาทำบุญหน้าตาต้องอิ่มเอิบ เรามาทำความดี อย่าเครียด ขอให้มั่นใจ ยืนหยัดต่อสู้ขับไล่รัฐบาลทรราชย์ต่อไป

อ่านแล้วมีความคิดเห็นอย่างไรกันบ้างครับ แต่ขอเตือนว่าการฟังการปราศรัย ถึงแม้ว่าข้อมูลที่ได้มาจะรับฟังได้รวดเร็ว ครอบคลุม กระชับ และเข้าใจได้ง่าย เพราะผ่านการย่อยมาจากผู้ปราศรัยแล้ว แต่ต้องระวังกับดักทางความคิดอย่างยิ่ง คือผู้ปราศรัยสามารถที่จะหยิบยกเอาเฉพาะประเด็นที่ตัวเองได้เปรียบมาพูด เหมือนกับการตัดส่วนนั้นส่วนนี้จากแหล่งต่างๆเอามาผสมปนเปกันและพูดให้ฝ่ายตัวเอง"ดูดี"ขึ้นมาได้ทันตาเห็น โดยขาดการลงรายละเอียดปลีกย่อย และผู้ฟังแทบจะไม่ได้ตรึกตรองเลย นอกจากมีอารมณ์คล้อยตามผู้พูด (โดยเฉพาะถ้าไม่มีความรู้หรือข้อมูลเรื่องนั้นมาก่อน) ในส่วนที่เป็นรายละเอียดที่ผู้พูดไม่กล่าวถึงนี่แหละ บางทีอาจจะตรงกันข้ามกับประเด็นที่ผู้พูดต้องการจะสื่อ ดังนั้นเวลาคุณฟังการปราศรัย คุณเคยนึกสงสัยบ้างมั้ยว่าที่เค้าพูดมานั้นเชื่อถือได้แค่ไหน เคยคิดจะไปสืบค้นแหล่งข้อมูลเต็มๆมาอ่านเพิ่มมั้ย เคยลองไปอภิปรายกับคนอื่นๆที่รู้ข้อมูลมาก่อนมั้ย ถ้าไม่เคยทำสิ่งเหล่านี้ก็ระวังจะตกเป็นเครื่องมือของผู้ปราศรัยนะครับ เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังสอนไม่ให้เชื่อคำสอนของครูอาจารย์ทันที ก่อนจะเชื่อต้องพินิจพิเคราะห์ทดลองด้วยตัวเองก่อนจึงค่อยเชื่อ แล้วนี่นักศึกษามหาวิทยาลัยราชดำเนินจะเรียนการเมืองแบบเชื่ออาจารย์ไปทั้งหมดก็ดูจะไม่ใช่ผู้มีปัญญาเค้าเรียนกัน จะกลายเป็นแกะให้เขาจูงไปได้ง่ายๆมากกว่า ผมเองก็ไม่ได้ปฏิเสธการฟังการปราศรัยของพันธมิตรนะครับ เพราะผมเองก็ฟังอยู่บ่อยๆทางวิทยุ บางเรื่องบางท่านพูดได้ดีมีประโยชน์ ได้ความรู้มาก แต่ฟังแล้วขอให้นำมาตรึกตรองคิดดูก่อน อย่าเพิ่งเชื่อทันทีทันใดแบบไปไหนไปกัน เขาพาไปตายก็ยังตามเขาไป แบบนั้นไม่ใช่คนฉลาดมีปัญญา

พอได้ฟังแกนนำคนนี้พูดจบผมก็ไปหาบทความ "ปฏิรูปสังคม" นี้มาอ่าน จึงได้ประจักษ์ถึงปัญญาอันล้ำเลิศของแกนนำท่านนี้ ที่อ่านแค่เพียงบางประโยคก็เอามาพูดปราศรัยให้คนคล้อยตามเฮกันใหญ่ได้ ถ้าจะเทียบกับสุภาษิตไทยก็ประมาณ "ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด" หรือไม่ก็พออ่านไม่กี่ประโยคก็เกิดความเดือดดาลคันปากอยากด่าคน เอาเป็นว่าคล้ายๆจะเป็น "กระต่ายตื่นตูม"

ลองอ่านบทความเต็มเรื่อง "ปฏิรูปสังคม" นี้ดูดีๆนะครับ

"น่ายินดีที่ฝ่ายพันธมิตรออกมาปฏิเสธว่า การเมืองใหม่ 70/30 ไม่ใช่เงื่อนไขตายตัว เป็นเพียงข้อเสนอเชิงตุ๊กตาเพื่อการถกเถียงอภิปรายกันเท่านั้น จึงเท่ากับการเปิดประตูให้กว้างขวางแก่ทุกฝ่าย ที่จะเข้ามาช่วยกันคิดและเสนอ เพราะจริงอย่างที่ฝ่ายพันธมิตรกล่าว ขณะนี้สังคมจำเป็นต้องร่วมกัน "ปฏิรูป" อีกครั้งหนึ่ง ต่อจากช่วง 2535-40

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการ "ปฏิรูป" แบบเปิดกว้าง ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการกดดันของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องเป็นบรรยากาศที่ทุกกลุ่มทุกฝ่าย รู้สึกปลอดภัยและอิสระเสรีในการเข้าไปมีส่วนร่วม อันไม่ใช่บรรยากาศของกลางฝูงชนที่กำลังประท้วง (ด้วยเรื่องอะไรกันแน่...ไม่มีใครทราบ)

สภาพการณ์ที่จำเป็น ผมคิดว่ามีอย่างน้อย 3 ประการ

1/ ขออย่ามีกลุ่มใดอ้างว่า เป็นตัวแทนของ "ประชาชน" เลย ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งหรือได้รับอาณัติจากสังคม ขอให้เข้าใจด้วยว่า อาณัตินั้นไม่ได้เด็ดขาดในทุกเรื่อง แต่จำกัดเฉพาะนิติบัญญัติ อีกทั้งต้องใช้กระบวนการที่ประชาชนอาจมีส่วนร่วมได้ตลอดเวลาด้วย ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุม, จัดสัมมนา-เสวนา, แถลงการณ์ของสหภาพหรือนักวิชาการ ฯลฯ ก็ล้วนเป็นความเห็นของผู้ลงนามเท่านั้น เสนอขึ้นเพื่อให้สังคมได้รับไปพิจารณา

ไม่ควรที่กลุ่มใดจะไฮแจ๊คความปกติสุขของสังคม, หรือไฮแจ๊คทำเนียบรัฐบาล, รัฐสภา, ท้องถนนอย่างถาวร ฯลฯ เพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองให้รับความเห็นของตน มิฉะนั้นก็จะไม่คืนตัวประกัน

2/ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพูดว่าให้คนดีปกครองบ้านเมือง ไม่ใช่เพราะคำพูดนี้ผิด แต่เป็นภูมิปัญญาที่ไม่ต้องใช้ปัญญาอะไร พูดเมื่อไรก็ถูกเมื่อนั้น แต่เอาไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ เพราะไม่มีทางที่ใครจะรู้แน่ว่าใครคือคนดี แม้แต่ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าดี ก็อาจผันแปรเป็นไม่ดีไปได้เมื่อเงื่อนไขชีวิตเปลี่ยนไป เช่นมีอำนาจและลูกน้องที่จะต้องเลี้ยงดู หรือถึงจะเป็นคนดีแต่ไม่มีฝีมือในการบริหาร ก็ไม่ทำให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวม

ที่ต้องใช้ปัญญาอย่างแท้จริงคือ กระบวนการอะไรจึงทำให้คนดีและมีฝีมือ ได้ปกครองบ้านเมือง และดำรงความดีกับฝีมือของตนไว้ได้ตลอดไป คำตอบของนักปราชญ์ฝ่ายประชาธิปไตยก็คือ ต้องเปิดให้แก่การตรวจสอบของสาธารณชนอย่างกว้างขวาง ทั้งในระบบ (รัฐสภา, องค์กรอิสระ, คณะกรรมการประเภทต่างๆ, อำนาจที่คานกันเองได้ทั้งในระนาบเดียวกันและต่างระนาบ ฯลฯ) และนอกระบบ (การประท้วง, สื่อ, ความเคลื่อนไหวทางการเมือง, เศรษฐกิจและสังคมที่อิสระเสรี, การแสดงออกทางวัฒนธรรม ฯลฯ)

หากที่ผ่านมา เราไม่อาจขจัดคอร์รัปชั่น, ความไร้สมรรถภาพ, เผด็จการทางรัฐสภา ฯลฯ ได้ ก็ควรหันมาทบทวนกลไกการตรวจสอบ และสร้างกลไกและหลักประกันในการตรวจสอบให้เป็นจริง

ร้ายยิ่งไปกว่านั้น การใช้หลักการที่ไร้เดียงสาเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการ "ปฏิรูป" ยังอาจนำไปสู่การแสวงหาคนดีที่หลุดไปจากการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดของสาธารณชนด้วย เช่นข้อเสนอให้แต่งตั้ง ส.ส.หรือบุคคลสาธารณะ หรือการยกอำนาจทั้งหมดให้แก่คณะบุคคลที่ประชาชนไม่อาจตรวจสอบได้เลย (เช่นกองทัพ, องคมนตรี, ตุลาการ, นายกฯคนนอก ฯลฯ) ในการเลือกสรรคนดีเข้ามาดำรงตำแหน่ง

น่าประหลาดที่เขาเรียกการรอนอำนาจประชาชนเช่นนี้ว่า "ประชาภิวัฒน์"

ไม่แต่เพียงเรื่องนี้เท่านั้น ข้อเสนอประเภทภูมิปัญญาที่ไม่ต้องใช้ปัญญาเช่นนี้ยังมาจากทุกฝ่าย เช่น รัฐบาลแห่งชาติ (ประหนึ่งคำว่าแห่งชาติคำเดียวจะทำให้ทุกอย่างดีเอง), สุมหัวกันแก้รัฐธรรมนูญในหมู่นักเลือกตั้ง (ประหนึ่งว่านักเลือกตั้งมีคุณสมบัติในการร่างรัฐธรรมนูญดีกว่านักรับแต่งตั้ง), งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ฯลฯ

อันที่จริง ในการ "ปฏิรูป" ใครจะเสนออะไรที่ไร้เดียงสาหรือเห็นแก่ตัวเท่าไรก็ได้ทั้งนั้น หากมีบรรยากาศที่เปิดกว้าง ปราศจากการไฮแจ๊ค ไม่ว่าจะเป็นไฮแจ๊คทำเนียบ หรือไฮแจ๊ครัฐสภา ดังเช่นข้อเสนอปฏิรูปการเมืองของฝ่ายพันธมิตร หากเป็นข้อเสนอในบรรยากาศปกติธรรมดา สังคมไม่ถูกบังคับขู่เข็ญ ก็จะถูกตีตกไปในเวลาอันรวดเร็ว และไม่มีใครใส่ใจจริงจังอีกเลย

3/ ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการจำกัดการ "ปฏิรูป" ให้เหลือเพียงการ "ปฏิรูปการเมือง" เพราะไม่มีการ "ปฏิรูปการเมือง" ใดๆ จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ หากไม่คิดว่า "การเมือง" เป็นเพียงมิติเดียวของสังคม ยังมีส่วนของวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่กำกับความเป็นไปของการเมืองอยู่เสมอ และผมขอเสนอให้เรียกว่า "ปฏิรูปสังคม" เราควรคิดถึงการปฏิรูปที่ดิน, การปฏิรูประบบภาษี, การปฏิรูปการศึกษา, การปฏิรูประบอบปกครอง ฯลฯ ไปพร้อมกัน เพราะความล้มเหลวของการเมืองไทยหลายประการ มาจากเศรษฐกิจ, วัฒนธรรม และสังคม ไม่ใช่เรื่องการเมืองและนักการเมืองล้วนๆ

ฝ่ายพันธมิตรกำลังเผชิญการท้าทายยิ่งกว่าหมายจับของเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียอีก หากฝ่ายพันธมิตรเชื่อจริงในเรื่อง "การเมืองใหม่" หรือการ "ปฏิรูป" เพราะฝ่ายพันธมิตรเป็นฝ่ายหนึ่ง ซ้ำเป็นฝ่ายสำคัญด้วย ที่จะนำเอาบรรยากาศปกติกลับคืนมาแก่สังคม การสนับสนุนของประชาชนส่วนที่ได้รับอยู่เวลานี้ ต้องแสวงหาและรักษาไว้ด้วยมาตรการอื่น ไม่ใช่การประท้วงด้วยท่าที "สงครามครั้งสุดท้าย" เพียงอย่างเดียว เพราะท่าทีนี้ไม่ใช่การเปิดกว้างแก่การ "ปฏิรูป" แต่เป็นการประกาศคำสั่งเด็ดขาดเท่านั้น

พันธมิตรมีความกล้าที่จะยุติการประท้วงด้วยท่าทีนี้หรือไม่ แน่นอนว่าฝ่ายแกนนำต้องเผชิญกับคดีตามกระบวนการยุติธรรม ท่านเหล่านั้นล้วนอ้างว่าไม่ได้ทำผิด และอ้างความเสียสละกล้าหาญมาโดยตลอด ถึงเวลาที่ท่านต้องพิสูจน์คำพูดด้วยการกระทำเสียที

นอกจากนี้ การกลับคืนสู่ภาวะปกติ ย่อมหมายถึงการ "รณรงค์" ในลักษณะอื่นที่ไม่ใช่ "สงครามครั้งสุดท้าย" ด้วย เช่นการอภิปรายโต้แย้งกันบนเวทีที่ทุกความเห็นไม่ถูกคุกคาม คำถามคือท่านเหล่านั้นมี "กึ๋น" จะทำได้หรือไม่ หรือเหลือ "กึ๋น" ที่จะทำได้หรือไม่

หากฝ่ายพันธมิตรไม่อาจทำได้ทั้งสองอย่างนี้ การ "ปฏิรูป" ก็ไม่มีทางเกิดขึ้น หรือไม่เกิดขึ้นตามแนวทางที่ฝ่ายแกนนำเป็นผู้เสนอ สิ่งที่น่าเสียดายไม่ใช่ข้อเสนอของแกนนำ แต่สิ่งที่น่าเสียดายก็คือแรงหนุนที่ผู้คนจำนวนมากให้แก่พันธมิตร ไม่ได้ถูกแปรไปใช้ในทางที่จะนำประเทศให้หลุดออกจาก "ระบอบทักษิณ" จริง แม้คนที่ชื่อทักษิณอาจไม่มีทางกลับมาสู่การเมืองไทยตลอดไปก็ตาม ("ระบอบทักษิณ" อาจมีนายกฯชื่อ สมชาย, ชวน, อภิสิทธิ์, สุรพงษ์, จำลอง, สนธิ, หรือสุรยุทธ์, อนุพงษ์ ฯลฯ ก็ได้)

และเมื่อมองสภาพกว้างกว่าฝ่ายพันธมิตรก็เป็นไปได้ด้วยว่า ไม่มีแรงหนุน "การปฏิรูปสังคม" อย่างจริงจังในสังคมไทยในช่วงนี้ ซึ่งแปลว่าเราต้องเผชิญการเมืองน้ำเน่าเช่นนี้ต่อไป จนกว่าจะเกิดอะไรร้ายแรงเสียก่อน สังคมไทยโดยรวมจึงจะเห็นความจำเป็น

เวลาที่ต้องเสียไปนี้ก็ตาม ความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งน่าเสียดายทั้งนั้น"

ที่มา
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01act01220951&sectionid=0130&day=2008-09-22

อ.นิธิต้องการจะเสนอแนวคิดของการปฏิรูปสังคม ให้ข้อเสนอแนะแก่ทุกฝ่ายๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่ประเทศชาติได้ประโยชน์ และเห็นทางออกของปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ แต่แกนนำพันธมิตรท่านนั้นไม่เข้าใจ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะบทความนี้ดูเหมือนจะเสียดสีแนวทางพันธมิตร (ไม่เห็นด้วย = ศัตรูของพันธมิตร) หรือคงเกรงว่ามวลชนจะลดการสนับสนุนพันธมิตร หรือจะเป็นด้วย"กึ๋น"ของแกนนำท่านนั้นเองก็ไม่อาจทราบได้ อีกอย่างหนึ่งก็คือในแวดวงคนมีปัญญา ถ้าจะให้วิจารณ์ความคิดเห็น บทความหรือผลงานของใคร เขาก็จะวิจารณ์ตัวเนื้องานเป็นหลัก โดยใช้เหตุผลมาถกเถียงกัน ส่วนการวิจารณ์ตัวเจ้าของผลงานนั้นเป็นเรื่องรอง ซึ่งก็ควรจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลงานนั้นๆ ไม่ใช่วิจารณ์โดยใช้อารมณ์และเน้นการโจมตีเรื่องส่วนตัว

ไม่มีความคิดเห็น: